จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เผยความลับราชตระกูลตุตันคามุน

เผยความลับราชตระกูลตุตันคามุน

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจะให้เกียรติแด่เหล่ากษัตริย์ฟาโรห์ และต้องการให้พวกเขาเหล่านั้นได้พักผ่อนอย่างสงบเพียงใด แต่ก็ต้องยอมรับว่าความลับของเหล่าฟาโรห์จะถูกล่วงรู้ได้ด้วยการศึกษามัมมี่ของพระองค์เท่านั้น

[การทำทีซีสแกนมัมมี่ฟาโรห์ตุตันคามุน]
เมื่อปี 2005 การทำทีซีสแกนมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคามุนทำให้เราทราบว่า พระองค์หาได้สิ้นพระชนม์จากการถูกตี หรือถูกของแข็งกระแทกที่พระเศียรอย่างที่หลายคนเชื่อกัน ผลการวิเคราะห์ทำให้เราทราบว่า รูที่กระโหลกด้านหลังของพระเศียรเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำมัมมี่ นอกจากนี้ผลการศึกษายังชี้ชัดได้ว่า พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 19 พรรษา และอาจเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บจากพระเพลาข้างซ้ายหัก

[ภาพจำลองใบหน้าของฟาโรห์ตุตันคามุน ซึ่งวิเคราะห์จากโครงหน้าของมัมมี่ของพระองค์]
อย่างไรก็ตาม ยังมีปริศนาอีกมากมายเกี่ยวกับฟาโรห์ตุตันคามุนที่การทำทีซีสแกนไม่สามารถคลี่คลายได้ แต่การที่ได้ศึกษามัมมี่ของพระองค์อย่างละเอียดมากขึ้น ทำให้เราได้ค้นพบข้อเท็จจริงอันน่าทึ่งเกี่ยวกับพระประวัติ ราชตระกูล และวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ
ย้อนไปเมื่อราว 1390 ปีก่อนคริสตกาล หรือหลายสิบปีก่อนที่ฟาโรห์ตุตันคามุมจะลืมตาดูโลก (พระองค์ทรงประสูติเมื่อ 1341 ปีก่อนคริสตกาล) ขณะนั้น ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามผู้เกรียงไกรทรงครองบัลลังก์อียิปต์ ปกครองจักรวรรดิกว้างใหญ่ไพศาลกินอาณาเขตถึง 1,900 กิโลเมตรจากแม่น้ำยูเฟรทีสทางตอนเหนือไปถึงแก่งที่สี่ของแม่น้ำไนล์ทางตอนใต้ ทำให้ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่สิบแปดพระองค์นี้ทรงมั่งคั่งมาก

[ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่3 เคียงคู่กับราชีนีไทยี และพระธิดา]

[มัมมี่ของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ฟาโรห์ผู้เกรียงไกรและมั่งคั่ง]
อเมนโฮเทปที่สามและพระนางไทยีราชินีผู้เรืองอำนาจ ทรงครองบัลลังก์นานถึง 37 ปี และบูชาทวยเทพที่บรรพกษัตริย์เคารพสักการะ โดยนับถือเทพอมุนเป็นเทพสูงสุด ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต่างเสวยสุขกันถ้วนหน้า ความมั่งคั่งและทรัพย์ศฤงคารหลังไหลสู่ท้องพระคลังจากดินแดนประเทศราช และดินแดนในอาณัตินอกราชอาณาจักร

[ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่4 หรืออเคนาเตน ผู้นำความเชื่อแบบเอกเทวนิยมมาใช้]
เมื่ออเมนโฮเทปที่สามสิ้นพระชนม์ลง อเมนโฮเทปที่สี่ พระโอรสองค์ที่สอง ได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีหัวก้าวหน้าอย่างประหลาด ทรงหันหลังให้เทพอมุนและเหล่าทวยเทพแห่งวิหารศักดิ์สิทธิ์มาสู่การนับถือเทพเจ้าองค์เดียว (เอกเทวนิยม) อันได้แก่เทพอเตน หรือสุริยเทพที่ปรากฏพระองค์ในรูปดวงสุริยา

[ภาพสลักเกี่ยวกับอเตน สุริยเทพ]
ในปีที่ 5 ของรัชกาล พระองค์ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น อเคนาเตน ซึ่งแปลว่า “บุรุษผู้มีคุณูปการต่ออเตน” และทรงยกสถานะของพระองค์เองขึ้นเป็นดั่งสมมติเทพ ทรงละทิ้งทีบส์ เมืองหลวงทางศาสนาแต่ดั้งเดิม เพื่อสร้างนครทางศาสนพิธีอันยิ่งใหญ่แห่งใหม่ ห่างออกไปทางตอนเหนือ 290 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันรู้จักในนามอมาร์นา

[ราชินีเนเฟอร์ตีติผู้เลื่องลือว่ามีพระศิริโฉมงดงามยิ่งนัก และยังมีผู้สันนิษฐานว่า ทรงขึ้นครองบัลลังก์หลังจากฟาโรห์อเคนาเตนสิ้นพระชนม์]
ณ ที่นั้น อเคนาเตน ทรงมีราชินีเนเฟอร์ตีติผู้เลอโฉมอยู่เคียงข้าง ทั้งสองพระองค์ประพฤติตนประหนึ่งสังฆราชแห่งเทพอเตน ซึ่งเท่ากับปลดเปลื้องอำนาจและความมั่งคั่งจากคณะนักบวชแห่งอมุน และเสริมศักดาบารมีให้แก่เทพอเตนอย่างสมบูรณ์
แต่ทว่ารัชสมัยของฟาโรห์อเคนาเตนกลับจบลงอย่างคลุมเครือ กล่าวคือ มีกษัตริย์หนึ่งหรือสองพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองในช่วงสั้น ๆ โดยไม่แน่ชัดว่าทรงอยู่ในอำนาจเคียงคู่กับอเคนาเตน หรืออยู่ในอำนาจหลังจากอเคนาเตนสิ้นพระชนม์ หรือทั้งสองกรณี และมีนักไอยคุปต์วิทยาหลายคนลงความเห็นว่า “กษัตริย์” พระองค์แรกในสองพระองค์ที่ว่านี้คือราชินีเนเฟอร์ตีติ ส่วนพระองค์ที่สองคือสเมงห์คาเรผู้ลึกลับ และแทบจะไม่เป็นที่รู้จักเลย

[หน้ากากครอบพระพักตร์ทองคำของฟาโรห์ตุตันคามุน]
สิ่งที่รู้แน่ชัดคือ กษัตริย์พระองค์ที่สามถัดจากอเคนาเตน ผู้ที่ประทับเหนือบัลลังก์คือยุวกษัตริย์วัย 9 พรรษา พระนามว่า ตุตังค์อเตน ในช่วงสองปีแรกของรัชกาล พระองค์และพระนางอังค์เซนปาอเตน มเหสี (เป็นธิดาในฟาโรห์อเคนาเตนกับพระนางเนเฟอร์ตีติ) ทรงละทิ้งเมืองอมาร์นาและหวนคืนสู่ทีบส์ ทรงฟื้นฟูและคืนความมั่งคั่งให้แก่วัดวาอารามและคณะนักบวช ตลอดจนเปลี่ยนพระนามของพระองค์เองเป็น “ตุตันคามุน”

การที่ตุตังค์อเตนหวนคืนสู่ทีบส์ และเปลี่ยนพระนามเป็นตุตันคามุน เท่ากับเป็นการประกาศตนไม่ยอมรับพฤติกรรมนอกรีตของฟาโรห์อเคนาเตน และหันกลับไปถวายสักการะแด่เทพอมุนดังเดิม

[รูปสลักของเทพอมุนหรืออเมนรา]

สิบปีหลังจากขึ้นครองราชย์ ตุตันคามุนก็สิ้นพระชนม์ลงโดยปราศจากผู้สืบสันตติวงศ์ พระศพถูกฝังอย่างเร่งรีบในหลุมศพขนาดเล็กที่ดูเหมือนจงใจทำขึ้นสำหรับสามัญชนมากกว่ากษัตริย์ (ทำให้สุสานของตุตันคามุนหลีกเรนจาดสายตาโจรปล้นสะดม ไม่ได้รับการแตะต้องจนกระทั่งมีการค้นพบในปี 1922) และเพื่อเป็นการตอบโต้การพระพฤตินอกรีตนอกรอยของอเคนาเตน ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ในยุคต่อ ๆ มาได้ทำลายร่องรอยเกือบทั้งหมดของเหล่ากษัตริย์แห่งอมาร์นา รวมทั้งตุตันคามุน ไปจากหน้าประวัติศาสตร์

[ยุวกษัตริย์ ฟาโรห์ตุตันคามุน (KV62) ผู้เป็นทายาทของการอภิเษกสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์ร่วมสายโลหิต และได้รับการศึกษามากที่สุดพระองค์หนึ่งนี้ ทรงทนทุกข์ทรมานจากพระอาการพระบาทปุก(เท้าผิดรูป) ตั้งแต่กำเนิด การสมรสกันเองระหว่างพี่น้องอาจเป็นสาเหตุของความพิกลพิการ และอาจถึงกับทำให้พระองค์ไม่สามารถให้กำเนิดรัชทายาทกับพระมเหสี ที่อาจเป็นพระภคินีต่างพระมารดา แต่ถึงแม้พระองค์จะทรงมีความผิดปกติอย่างไรในพระชนมชีพ มรดกที่ทรงฝากไว้ตราบชั่วนิรันดร์ คือ ภาพลักษณ์แห่งความสมบูรณ์แบบอันเจิดจรัส นั่นคือ หน้ากากครอบพระพักตร์ทองคำ อันเป็นสิ่งที่ชาวอียิปต์โบราณยึดถือประหนึ่งพระมังสาของเหล่าทวยเทพ]

ทว่าความพยายามที่จะลบร่องรอยความทรงจำเกี่ยวกับพระองค์ กลับเป็นการช่วยรักษาพระศพและสุสานของตุตันคามุนมาได้จนทุกวันนี้ ไม่ถึง 100 ปี หลังการสิ้นพระชนม์ ที่ตั้งของสุสานของพระองค์ก็เลือนหายไปจากความทรงจำ เร้นจากสายตาโจรปล้นสะดมด้วยสิ่งปลูกสร้างที่สร้าบทับเหนือสุสานพอดี ทำให้ไม่ได้รับการแตะต้องจนกระทั่งได้รับการค้นพบในปี 1922 กระนั้นหลักฐานและบันทึกทางโบราณคดี ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างเรื่องความสัมพันธ์อันใกล้ชิดภายในราชตระกูลของยุวกษัตริย์พระองค์นี้ได้

[พระอัยกา : อเมนโฮเทปที่สาม(KV35) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพระอัยกา(ปู่) ของตุตันคามุน ทรงปกครองบ้านเมืองในยุครุ่งโรจน์ เมื่อ 3,400 ปีก่อน มัมมี่ของพระองค์ได้รับการฝังพร้อมด้วยทรัพย์ศฤงคาร หลายร้อยปีต่อมา นักบวชที่ต้องการปกป้องพระศพของบุรพกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์จากพวกลักลอบขุดสุสาน ได้ห่อหุ้มร่างพระองค์ด้วยผ้าลินิน และนำมาฝังรวมกัน นักโบราณคดีพบพระศพของอเมนโฮเทปที่สามเมื่อปี 1898 พร้อมกับมัมมี่เชื้อพระวงศ์พระองค์อื่น ๆ อีกมากกว่าสิบร่างในสุสานเควี35 ซึ่งเป็นของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สอง พระอัยกาของพระองค์เอง]
นักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจึงตัดสินใจที่จะวิเคราะห์ดีเอ็นเอของตุตันคามุน รวมทั้งดีเอ็นเอของมัมมี่อื่น ๆ อีก 10 ร่าง ที่สันนิษฐานว่าเป็นพระประยูรญาติใกล้ชิดที่สุด ในปี 2008 นักพันธุศาสตร์รับรองว่า ศาสตร์แขนงนี้ก้าวหน้ามากพอให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ จึงตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมขึ้นสองแห่ง แห่งแรกที่ชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์อียิปต์ แห่งที่สองที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร และได้ทำซีทีสแดนมัมมี่ทุกร่างภายใต้การดูแลของอัซรอฟ เซลิม และซาฮาร์ ซาลีม จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร
 [พระอัยยิกา : พระนางไทยี(KV35EL) ในบรรดาพระศพที่พบในสุสานเควี35 มีมัมมี่นิรนามที่เคยเรียกขานกันแต่เพียงว่า "หญิงผู้สูงวัย" (Elder Lady) รวมอยู่ด้วย บัดนี้ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอระบุว่า สตรีสูงศักดิ์ผู้เลอโฉมพระองค์นี้คือพระนางไทยี มเหสีของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม พระธิดาในยูยาและยูทู คู่สามีภรรยาสามัญชนที่ถูกค้นพบเมื่อปี 1905 ในสุสานส่วนตัว(เควี46) พระศพของพระอัยยิกา(ย่า) แห่งฟาโรห์ตุตันคามุนมีพระกรซ้ายพาดทับพระอุระ ซึ่งตีความกันว่าเป็นท่วงท่าของราชีนีในการฝังพระศพ]
พวกเขารู้มาก่อนหน้านี้แล้วว่า มัมมี่ 4 ร่างจากทั้งหมดเป็นใครบ้าง หนึ่งคือฟาโรห์ตุตันคามุนซึ่งพระศพยังอยู่ในสุสานในหุบผากษัตริย์ ส่วนอีกสามร่างจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ ได้แก่ ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม ยูยาและยูทู ผู้เป็นบิดาและมารดาของพระนางไทยี ราชินีผู้ยิ่งใหญ่ในฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม ส่วนมัมมี่ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้นั้นประกอบด้วยชายที่พบในสุสานลึกลับแห่งหนึ่งในหุบผากษัตริย์ที่เรียกกันว่า เควี55(KV55) ทั้งนี้หลักฐานทางโบราณคดีและลายลักษณ์อักษรชี้ไปในทางที่ว่า มัมมี่ร่างนี้น่าจะเป็นอเคนาเตนหรือไม่ก็สเมงห์คาเร

[มัมมี่ที่พบในสุสาน KV35]
การสืบหาพระมารดาของฟาโรห์ตุตันคามุนในครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่มัมมี่หญิงนิรนาม 4 ร่าง สองร่างในจำนวนนี้เรียกกันว่า “สตรีผู้สูงวัย”(Elder Lady) และ “หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์”(Younger Lady) ถูกค้นพบในปี 1898 โดยผ้าพันพระวรกายถูกแกะออกและพระศพถูกวางไว้อย่างไม่มีพิธีรีตองในสุสานย่อย ภายในสุสานของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สอง(เควี35) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเหล่านักบวชเป็นผู้นำมาซุกซ่อนไว้หลังสิ้นสุดยุคราชอาณาจักรใหม่เมื่อราว 1000 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนอีกสองร่างเป็นมัมมี่เพศหญิงที่พบในสุสานขนาดเล็ก(เควี21) ในหุบผากษัตริย์ และท้ายที่สุดพวกเขาได้สกัดดีเอ็นเอจากซากทารกสองร่างที่พบในสุสานตุตันคามุน ซึ่งหากทำสำเร็จ เราอาจค้นพบชิ้นส่วนที่ขาดหายของปริศนาแห่งราชวงศ์ที่ยาวนานถึงห้าชั่วคน

[พระปัยกา และ พระปัยยิกา (ตาทวด-ยายทวด) : ยูยา(ซ้าย) และ ยูทู(ขวา) ของฟาโรห์ตุตันคามุน]
ในการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจำนวนมากพอเพื่อนำมาวิเคราะห์ นักพันธุศาสตร์ได้ทำการสกัดเนื้อเยื่อจากหลาย ๆ จุดทั่วร่างของมัมมี่ โดนมักเจาะลึกลงไปในกระดูก เพราะน่าจะเป็นตำแหน่งที่ตัวอย่างไม่มีโอกาสปนเปื้อนดีเอ็นเอของนักโบราณคดีรุ่นก่อน ๆ หรือของนักบวชผู้ประกอบพิธีทำมัมมี่ และนักวิจัยเองก็ต้องระวังอย่างมากไม่ให้ดีเอ็นเอของตนเองเปื้อนไปกับมัมมี่ด้วยเช่นกัน หลังจากสกัดตัวอย่างเสร็จแล้ว ดีเอ็นเอจะถูกนำไปสกัดแยกสารประกอบที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งขี้ผึ้งและยางไม้ที่นักบวชใช้ในการรักษาสภาพศพ

[พระมารดา : ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอชี้ว่า มัมมี่ที่รู้จักกันในนาม "หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์" (Younger Lady) ไม่เพียงเป็นพระภคินีร่วมสายพระโลหิตกับมัมมี่เควี55 ซึ่งอาจเป็นฟาโรห์อเคนาเตน แต่ยังเป็นพระมารดาของพระโอรสในองค์ฟาโรห์ ซึ่งก็คือตุตันคามุน (การสมรสกันเองในหมู่พี่น้องเป็นเรื่องปกติสำหรับราชวงศ์อียิปต์) บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า อเคนาเตนอภิเษกสมรสกับทั้งพระนางเนเฟอร์ตีติ ผู้เลื่องลือ และสตรีนามคิยา แต่ไม่มีหลักฐานระบุว่าสตรีทั้งสองนางเป็นพระภคินีร่วมสายพระโลหิต หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์อาจเป็นหนึ่งในพระธิดา 5 พระองค์ เท่าที่รู้จักกันของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามกับพระยางไทยี]
หัวใจของการศึกษาในครั้งนี้อยู่ที่ฟาโรห์ตุตันคามุน หากการสกัดและแยกดีเอ็นเอจากพระศพได้ผล จะได้ดีเอ็นเอในสารละลายของเหลวใสพร้อมสำหรับการวิเคราะห์ แต่สารละลายที่ได้ครั้งแรกกลับออกมาเป็นสีดำขุ่น พวกเขาจึงต้องใช้เวลาทำงานกันอย่างหนักอีกหกเดือนเพื่อหาวิธีกำจัดสิ่งปนเปื้อน และหาตัวอย่างดีเอ็นเอที่พร้อมสำหรับการเพิ่มจำนวนและจัดลำดับต่อไป

หลังจากสกัดดีเอ็นเอจากมัมมี่เพศชายอีกสามร่าง ซึ่งได้แก่ ยูยา อเมนโฮเทปที่สาม และมัมมี่นิรนามเควี55 ก็เข้าสู่กระบวนการสืบหาพระบิดาของตุตันคามุน

[ทางเข้าสุสาน KV55]

[ภาพจำลองสุสาน KV55]
นักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่า พระบิดาของตุตันคามุนน่าจะเป็นฟาโรห์อเคนาเตน โดยมีหลักฐานสนับสนุน คือ ชิ้นส่วนแผ่นศิลาหินปูนที่พบใกล้เมืองอมาร์นา ซึ่งมีจารึกเรียกขานตุตังค์อเตนและอังค์เซนปาอเตนว่าเป็นปิโยรสและปิยธิดา หรือบุตรและธิดาผู้เป็นที่รักยิ่งของกษัตริย์ เนื่องจากเรารู้ว่าอังค์เซนปาอเตนเป็นพระธิดาของอเคนาเตน จึงน่าเชื่อได้ว่าตุตังค์อเตน(หรือตุตันคามุมในเวลาต่อมา) เป็นพระโอรสของอเคนาเตนด้วยเช่นกัน

[พระบิดา : ตัวตนของพระบิดาของตุตันคามุน เป็นปริศนามาช้านาน หนึ่งในผู้ที่เข้าข่ายคือ อเคนาเตน ฟาโรห์นอกรีดผู้หันหลังให้เหล่าทวยเทพแห่งนครา และหันมานับถืออเตนหรือสุริยเทพเพียงพระองค์เดียว เมื่อปี 1907 นักโบราณคดีค้นพบมัมมี่สภาพผุพังร่างหนึ่งในสุสานเควี55 ซึ่งเป็นสุสานขนาดเล็กในหุบผากษัตริย์ จารึกเหนือหีบพระศพที่พระพักตร์ถูกสกัดออกไปทำให้เชื่อว่า ร่างที่อยู่ภายในอาจจะเป็นอเคนาเตน บัดนี้ ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอยืนยันแล้วว่า ที่คือมัมมี่ของพระโอรสในฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี ซึ่งเป็นพระราชบุพการีของอเคนาเตน ผู้เป็นพระบิดาของตุตันคามุนอีกทอดหนึ่ง]
แต่ก็ใช่ว่านักวิชาการทุกคนจะเชื่อหลักฐานชิ้นนี้ บางคนแย้งว่า พระบิดาที่แท้จริงของตุตันคามุน น่าจะเป็นสเมงห์คาเรผู้ลึกลับมากกว่า

[ตัวอย่าง ลักษณะของลายพิมพ์ดีเอ็นเอ]
เมื่อแยกดีเอ็นเอจากมัมมี่ทั้งหมดได้ ก็เหลือเพียงกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนในการเปรียบเทียบโครโมโซมวายของอเมนโฮเทปที่สาม มัมมี่เควี55 กับตุตันคามุน เพื่อหาความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม (เพศชายที่มีความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติจะมีรูปแบบดีเอ็นเอในโครโมโซมวายเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะจีโนมหรือกลุ่มยีน ในเซลล์ของผู้ชายส่วนนี้ได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากพ่อ) แต่หากต้องการระบุความสัมพันธ์ที่แม่นยำ ต้องอาศัยกระบวนการตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (genetic fingerprinting) ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะนอกเหนือจากโครโมโซมในจีโนมแล้ว ยังมีตำแหน่งเฉพาะที่ของรูปแบบการเรียงตัวอักษรดีเอ็นเอ ได้แก่ตัว เอ ที จี และ ซี ที่รวมกันเป็นรหัสพันธุกรรม ซึ่งจะแปรผันแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละบุคคล ความแปรผันนี้รวมกันเป็นการเรียงลำดับซ้ำ ๆ ของตัวอักษรที่เหมือนกันสองสามตัว

[จำลองรูปแบบของการเรียงตัวอักษรของ DNA]
ตัวอย่างเช่น คน ๆ หนึ่งอาจมีการเรียงลำดับของตัวอักษรเหล่านี้ซ้ำกันสัก 10 ครั้ง แต่อีกคนหนึ่งที่ไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดอาจมีการเรียงลำดับของตัวอักษรแบบเดียวกันสูงถึง 15 ครั้ง ส่วนคนที่สามอาจถึง 20 ครั้งก็ได้ ความเข้ากันได้ของการเรียงลำดับสักสิบครั้ง ก็เพียงพอที่จะให้เอฟบีไอสรุปว่า ดีเอ็นเอที่พบในที่เกิดเหตุ กับของผู้ต้องสงสัยอาจเป็นคนคนเดียวกัน
การนำสมาชิกในครอบครัวที่พลัดพรากจากกันเมื่อ 3,300 ปีก่อนมาพบกันอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องฉุกละหุกเหมือนการไขคดีปริศนาฆาตกรรม ด้วยการเปรียบเทียบตำแหน่งความแปรผันเพียงแปดตำแหน่ง ที่เพียงพอให้ทีมงานวิเคราะห์ความน่าจะเป็นที่มากกว่าร้อยละ 99.99 ว่า ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามเป็นพระบิดาของมัมมี่นิรนามที่พบในสุสานเควี55 ซึ่งเป็นพระบิดาของตุตันคามุนอีกทอดหนึ่ง
 [ภาพสลักของฟาโรห์อเคนาเตน กับพระมเหสีเนเฟอร์ตีติ พร้อมด้วยพระโอรสและพระธิดา]
ตอนนี้เรารู้ว่าได้พบร่างพระบิดาของตุตันคามุนแล้ว แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นใคร บุคคลต้องสงสัยอันดับต้น ๆ คือ อเคนาเตน และสเมงห์คาเร ผลการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่สรุปว่า ร่างที่พบเป็นชายหนุ่มอายุไม่เกิน 25 ปี ซึ่งอ่อนเยาว์เกินกว่าจะเป็นอเคนาเตน ผู้ให้กำเนิดธิดามาแล้วถึงสองพระองค์ก่อนขึ้นครองราชอาณาจักร เป็นเวลา 17 ปี ทำให้นักวิชาการส่วนมากตั้งสมมติฐานว่า มัมมี่นิรนามดังกล่าวน่าจะเป็นฟาโรห์สเมงห์คาเรผู้ลึกลับ

[สเมงห์คาเรผู้ลึกลับ ถูกเชื่อว่าเป็นฟาโรห์ผู้มีพระศิริโฉมหล่อเหลากว่าฟาโรห์พระองค์อื่น ๆ]
ถึงตอนนี้ ได้เวลาเรียกพยานปากใหม่เข้ามาช่วยไขปริศนา มัมมี่ที่เรียกขานกันว่า “สตรีสูงวัย” (เควี35อีแอล) ผู้มีเรือนพระเกศาดีแดงยาวสลวยประพระอังสา(บ่า) เส้นพระเกศานี้ได้รับการเปรียบเทียบทางสัณฐานวิทยา กับปอยพระเกศาที่พบในหมู่หีบพระศพจำลองในสุสานตุตันคามุน พร้อมคำจารึกพระนามราชินีไทยี มเหสีของอเมโฮเทปที่สาม และพระมารดาของอเคนาเตน การเปรียบเทียบดีเอ็นเอของสตรีสูงวัยกับดีเอ็นเอที่ได้จากมัมมี่พระบิดา และพระมารดาของพระนางไทยีที่เรารู้จักกันแล้ว ซึ่งก็คือ ยูยา และ ทูยู ทำให้เรายืนยันได้ว่า สตรีสูงวัยผู้นี้คือพระนางไทยี และพระนางก็พร้อมแล้วที่จะช่วยพิสูจน์ว่า มัมมี่เควี55 คือพระโอรสของพระนางหรือไม่

[มัมมี่สตรีผู้สูงวัย ต่อมาได้รับการพิสูจน์ได้ว่า เป็นพระอัยยิกาของฟาโรห์ตุตันคามุน]
แล้วพระนางก็ไม่ทรงทำให้เราผิดหวัง ผลการเปรียบเทียบดีเอ็นเอระบุชัดเจนว่า ทั้งสองพระองค์ทรงเกี่ยวดองกันทางสายพระโลหิต ผลการทำทีซีสแกนล่าสุดของมัมมี่เควี55 ยังเผยให้เห็นภาวะการเสื่อมของพระปิฐิกัณฐกัฐิ(กระดูกสันหลัง) ตามอายุ และการอักเสบที่ข้อพระอัฐิที่พระชานุและพระเพลา(ข้อกระดูดที่หัวเข่าและขา) ดูเหมือนว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ในช่วงพระชันษาใกล้ 40 มากกว่า 25 ที่เคยเชื่อกัน
เมื่อความคลาดเคลื่อนเรื่องอายุเป็นที่กระจ่างชัดแล้ว เราจึงสามารถสรุปได้ว่า มัมมี่เควี55 ผู้เป็นโอรสของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี และพระบิดาของตุตันคามุน น่าจะเป็นฟาโรห์อเคนาเตนมากที่สุด แต่เนื่องจากเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสเมงห์คาเรน้อยมาก จึงไม่อาจตัดพระองค์ทิ้งไปได้เสียทีเดียว
การทำซีทีสแกนรอบใหม่ยังช่วยลบล้างข้อสันนิษฐานที่ว่า ขัตติยตระกูลนี้มีความผิดปกติมาแต่กำเนิด เช่น กลุ่มอาการมาร์แฟนที่อาจอธิบายถึงใบหน้าเรียวยาวผิดปกติ และลักษณะกึ่งชายกึ่งหญิงที่เห็นในศิลปกรรมยุคอมาร์นา เราไม่พบพยาธิสภาพดังกล่าว ดังนั้นภาพวาดที่แสดงรูปลักษณ์กึ่งชายกึ่งหญิงของอเคนาเตน น่าจะเป็นการสะท้อนอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับเทพอเตน ผู้เป็นทั้งชายและหญิงในร่างเดียว สมกับเป็นผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิต

[ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับอเคนาเตน จะมีลักษณะรูปหน้ายาว และค่อนไปทางกึ่งหญิงกึ่งชาย จึงมีผู้สันนิษฐานว่าเกิดจากกลุ่มอาการมาร์แฟน ซึ่งผลจากการตรวจวิจัย ไม่พบว่าพระองค์มีความผิดปกติของกลุ่มอาการดังกล่าว]

[ความผิดปกติของกลุ่มอาการมาร์แฟนคือ มีรูปร่างสูง ผอม ใบหน้า นิ้ว แขน ขา ยาวผิดส่วน]
แล้วใครคือพระมารดาของตุตันคามุนกันเล่า ผลวิสัยสร้างความประหลาดใจไม่น้อยที่พบว่า ดีเอ็นเอของหญิงสาวผู้อ่อนเยาว์ (เควี35วายแอล) ที่พบเคียงข้างพระศพของพระนางไทยีในสุสานย่อยภายในสุสานของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม (เควี35) ตรงกับของยุวกษัตริย์ ที่น่าประหลาดใจขึ้นไปอีกคือ ดีเอ็นเอของมัมมี่ดังกล่าวยังชี้ว่า พระนางเป็นพระธิดาในอเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี ผู้เป็นพระราชบุพการีของอเคนาเตนเช่นกัน นั่นหมายความว่า อเคนาเตนมีพระโอรสกับพระภคินีร่วมสายพระโลหิต และโอรสพระองค์นั้นคือก็ตุตันคามุน

[KV35YL หรือ หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์ คือพระมารดาของตุตันคามุน และพระนางยังเป็นภคินี(พี่น้องแท้ๆ) ในฟาโรห์อเคนาเตน ผู้เป็นพระราชบิดาของตุตันคามุนอีกด้วย แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าพระนางคือใครกันแน่ในหมู่พระธิดาทั้งห้าของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม และพระมเหสีไทยี]
การค้นพบดังกล่าวทำให้เราทราบว่า ทั้งพระมเหสีเนเฟอร์ตีติและพระราชาและพระชายาคิยาในฟาโรห์อเคนาเตน ไม่น่าจะเป็นพระมารดาของตุตันคามุน เพราะไม่มีหลักฐานจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า ทั้งสองพระองค์เป็นพระภคินีร่วมสายพระโรหิตกับอเคนาเตน เราทราบชื่อพระธิดาทั้งห้าของอเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี แต่อาจไม่มีวันรู้ได้ว่าองค์ไหนเป็นผู้ให้กำเนิดหน่อเนื้อเชื้อไขของพระองค์กับอเคนาเตน แม้การสมสู่ร่วมสายโลหิต(incest) จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในหมู่สมาชิกราชวงศ์อียิปต์โบราณ แต่เชื่อว่าในกรณีนี้ ส่งผลต่อการสิ้นพระชนม์แต่วัยเยาว์ของพระโอรสผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของทั้งสองพระองค์
 [ฟาโรห์ตุตันคามุนทรงประทับนั่ง โดยมีพระมเหสีอังเคเซนามุนอยู่เคียงข้าง]
ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอซึ่งได้รับการดีพิมพ์ในวารสารของแพทยสมาคมแห่งอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์(2010) ยิ่งทำให้มั่นใจว่า พันธุศาสตร์น่าจะเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้ร่วมกับการศึกษาทางรังสีวิทยาของมัมมี่ และความรู้ที่ได้จากบันทึกทางโบราณคดี

[พระบาทของตุตันคามุน ซึ่งการทำซีทีสแกนเผยให้เห็นว่ามีความผิดปกติของโรคเท้าปุก]
ความจริงข้อนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดในความพยายามสืบเสาะสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของตุตันคามุน ตอนที่เราเริ่มการศึกษาครั้งใหม่นี้ อัชรอฟ เซลิม และทีมงาน ค้นพบสิ่งที่ไม่มีใครสังเกตเห็นในภาพทีซีสแกนก่อนหน้าที่ของพระองค์ นั่นคือ พระบาทซ้ายของตุตันคามุนเป็นโรคเท้าปุก(clubfoot) นิ้วพระบาทหนึ่งมีข้อพระอัฐิหายไป และพระะอัฐิบางส่วนของพระบาทข้างนั้นถูกทำลายจากภาวะการตายเฉพาะส่วน (necrosis) ก่อนหน้านี้นักวิชาการเคยค้นพบธารพระกร(ไม้เท้า) กว่า 130 องค์ ทั้งที่มีสภาพสมบูรณ์ หรือเป็นเพียงชิ้นส่วนในสุสานของตุตันคามุน บางอันมีร่องรอยการใช้งานอย่างชัดเจน

[ธารพระกรที่มีร่องรอยการใช้งานอย่างเห็นได้ชัด]
ทว่านักวิชาการบางกลุ่มแย้งว่า ธารพระกรเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจที่พบเห็นได้ทั่วไป และความเสียหายบริเวณพระบาทอาจเกิดจากกระบวนการทำมัมมี่ก็เป็นได้ แต่ผลการวิเคราะห์พบการงอกของกระดูกที่เกิดขึ้นตอบสนองต่อภาวะการตายเฉพาะส่วน ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่พระองค์ยังมีพระชมน์ชีพ และในบรรดาฟาโรห์ทั้งมวล มีเพียงตุตันคามุนเท่านั้นที่เราพบหลักฐานเป็นภาพจารึกของพระองค์ประทับขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทรงธนู หรือทรงขว้างไม้ซัด นี่ไม่ใช่ภาพของฟาโรห์ผู้ทรงธารพระกรเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ หากเป็นเพียงหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน

[ฟาโรห์ตุตันคามุนกษัตริย์ผู้ต้องทรงธารพระกรเพื่อช่วยเดิน]
โรคกระดูกน่าจะทำให้พระองค์ทรงทุพพลภาพ แต่คงไม่หนักหนาสาหัสถึงขนาดทำให้สิ้นพระชนม์ เพื่อศึกษาถึงสาเหตุที่น่าจะทำให้สิ้นพระชนม์ เราจึงทดสอบมัมมี่ของพระองค์เพื่อหาร่องรอยทางพันธุกรรมของโรคติดเชื้อหลายชนิด เมื่ออ้างอิงถึงการพบร่องรอยดีเอ็นเอของปรสิตพลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม (Plasmodium falciparum) หลายสายพันธุ์ ทำให้เรารู้แน่ชัดว่าฟาโรห์ตุตันคามุนทรงติดเชื้อไข้มาลาเรีย และที่สำคัญคือทรงติดเชื้อชนิดร้ายแรงที่สุดหลายต่อหลายครั้งเสียด้วย…

[ข้าวของเครื่องใช้ในสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพ]

สรุปว่ามาลาเรียคร่าชีวิตยุวกษัตริย์พระองค์นี้หรืออาจจะเป็นไปได้ เพราะโรคอาจไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้เกิดการช็อคของระบบไหลเวียนโลหิต อันนำไปสู่ภาวะตกเลือด ชัก โคม่า และสิ้นพระชมน์ในที่สุด อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนแย้งว่า มาลาเรียอาจเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในยุคนั้น และตุตันคามุนน่าจะทรงมีภูมิคุ้มกันบ้างแล้ว

[เปิดสุสาน ตุตันคามุน]
 [ตุตันคามุนนอนอยู่ในโลงพระศพ มีหน้ากากทองคำครอบไว้]

[ตุตันคามุม เมื่อนำหน้ากากออก]
อย่างไรก็ดี พระพลานามัยของตุตันคามุนไม่ได้สมบูรณ์มาตั้งแต่อยูในพระครรภ์ด้วยซ้ำ พระบิดาและพระมารดาของพระองค์ต่างทรงเป็นพี่น้องร่วมสายพระโลหิต อียิปต์ในยุคฟาโรห์ ไม่ใช่สังคมเดียวในประวัติศาสตร์ที่ยอมรับการอภิเษกสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์ร่วมสายพระโลหิต ซึ่งเป็นกุศโลบายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง กระนั้นผลที่ตามมาอาจเป็นอย่างตรายอย่างยิ่ง เพราะพี่น้องที่แต่งงานกันเองมีแนวโน้มจะถ่ายทอดยีนด้อยที่ตรงกัน ทำให้ลูกที่เกิดมามีโอกาสเสี่ยงต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายลักษณะ ฝ่าพระบาทที่ผิดรูปผิดร่างของตุตันคามุนอาจเป็นผลมาจากความบกพร่องดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่าพระองค์อาจมีพระอาการเพดานโหว่บางส่วน บางทีพระองค์อาจทรงทนทุกข์ทรมานจากภาวะอื่น ๆ อีกด้วย จนกระทั่งพระโรคมาลาเรียขั้นรุนแรงหรือพระเพลาที่หักจากอุบัติเหตุ กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พระพลานามัยซึ่งไม่สมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่อาจแบกรับพยาธิสภาพได้อีกต่อไป

[ภาพของพระอัฐิบริเวณพระเพลาที่หักของตุตันคามุน]
นอกจากนี้ ยังอาจมีความจริงอันน่าปวดร้าว ซึ่งเป็นผลพวงของธรรมเนียมการอภิเษกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ร่วมสายพระโลหิต ฝังอยู่ในสุสานตุตันคามุนด้วย แม้ข้อมูลที่มีอยู่จะยังไม่สมบูรณ์นัก แต่การศึกษาบ่งชี้ว่า หนึ่งในมัมมี่ทารกในครรภ์ที่พบนั้นเป็นพระธิดาของพระองค์ ส่วนมัมมี่ทารกอีกพระศพหนึ่งนั่นก็อาจเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์ด้วยเช่นกัน

[ซ้าย : หีบชั้นในสุดของหีบพระศพจำลองชุดหนึ่ง ซึ่งพบในสุสานตุตันคามุน มีพระนามของพระนางไทยีจารึกอยู่ ภายในบรรจุปอยพระเกศา ซึ่งอาจเป็นเสมือนของรำลึกถึงพระอัยยิกาผู้เป็นที่รัก
ขวา : นักโบราณดคีพบมัมมี่ทารกในครรภ์อายุอย่างน้อย 7 เดือน ในสุสานตุตันคามุน พร้อมด้วยมัมมี่ทารกอีกร่างที่มีขนาดเล็กและบอบบางยิ่งกว่า ทารกหนึ่งในนั้นหรือทั้งสององค์ อาจเป็นพระธิดาของตุตันคามุน ]
จนถึงขณะนี้ เราได้ข้อมูลบางส่วนจากมัมมี่เพศหญิงสองร่างที่พบในสุสานเควี21 หนึ่งในนั้นคือเควี21เอ ที่น่าจะเป็นพระมารดาของทารกในครรภ์ทั้งสอง ซึ่งก็คืออังเคเซนามุน พระชายาของตุตันคามุนนั่นเอง เราทราบจากประวัติศาสตร์ว่า พระนางเป็นพระธิดาของฟาโรห์อเคนาเตนกับพระนางเนเฟอร์ตีติ ดังนั้นจึงน่าจะเป็นพระภคินี(พี่สาวหรือน้องสาว) ต่างพระมารดากับพระสวามี ผลที่ตามมาของการอภิเษกสมรสกันเองนี้ คือทารกในครรภ์ที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมจนไม่สามารถลืมตาดูโลกได้

[ภาพขยาย มัมมี่ทารกในครรภ์เพศหญิง ที่เชื่อว่าเป็นธิดาขององค์ฟาโรห์ตุตันคามุน]
บางทีนี่อาจเป็นบทอวสานของละครเรื่องนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ในตอนนี้ โดยยุวกษัตริย์และพระราชินีทรงพยายามสร้างรัชทายาทเพื่อสืบราชบัลลังก์อียิปต์ แต่ต้องทรงผิดหวัง ท่ามกลางกองศิลปวัตถุงดงามตระการตาที่ฝังรวมกับพระศพฟาโรห์ตุตันคามุน มีหีบประดับด้วยงาช้างใบน้อยรวมอยู่ด้วย บนหีบมีภาพสลักคู่สมรสผู้ทรงศักดิ์ ตุตันคามุนทรงเอนพระวรกายพิงธารพระกร ขณะที่พระมเหสีทรงยื่นช่อดอกไม้ถวายพระองค์ ในภาพสลักนี้และภาพอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าทั้งสองพระองค์ทรงรักใคร่กับอย่างดูดดื่ม

[ภาพสลักบนหีบประดับงาช้าง เป็นภาพขององค์ฟาโรห์ตุตันคามุน เคียงข้างกับพระมเหสี ข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวกับพระพลานามัย ทำให้เชื่อได้ว่า พระองค์อาจต้องพึ่งธารพระกรในการทรงพระราชดำเนิน]
เราทราบกันว่า หลังการสวรรคตของตุตันคามุน ราชินีแห่งอียิปต์ ซึ่งน่าจะเป็นอังเคเซนามุน ได้ทรงร้องขอต่อกษัตริย์แห่งฮิตไทต์ อริราชศัตรูของอียิปต์ ให้ส่งเจ้าชายมาเพื่ออภิเษกกับพระนาง โดยทรงให้เหตุผลว่า “พระสวามีของหม่อมฉันสิ้นพระชนม์แล้ว และหม่อมฉันไม่มีโอรส” กษัตริย์แห่งฮิตไทต์ส่งพระโอรสองค์หนึ่งมา แต่กลับมีอันเป็นไปก่อนเสด็จถึงอียิปต์ เชื่อว่าพระองค์อาจถูกลอบปลงพระชนม์โดยโฮเรมเฮบ แม่ทัพใหญ่ของกองทัพฟาโรห์ตุตันคามุน ผู้ซึ่งท้ายที่สุดได้ปราบดาภิเษกยึดครองราชบัลลังก์เสียเอง แต่กระนั้นโฮเรมเฮบก็สิ้นพระชนม์โดยไร้รัชทายาท ทำให้ราชบัลลังก์ตกเป็นของขุนศึกอีกนาย

[หลังการค้นพบสุสานเควี21 เมื่อปี 1817 นักโบราณคดีพบมัมมี่สตรีสองร่างในสภาพสมบูรณ์อยู่ภายใน ทว่าต่อมาถูกเหล่าโจรมือดีรุมทึ้ง ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอเบื้องต้นระบุว่า พระศพที่ไร้พระเศียร อาจเป็นพระมารดาของมัมมี่ทารกในครรภ์ หนึ่งในสองร่างที่พบในสุสานตุตันคามุน หากเป็นเช่นนั้นจริง สตรีผู้นี้ก็น่าจะเป็นอังเคเซนามุน พระธิดาของอเคนาเตน และเป็นพระมเหสีเพียงหนึ่งเดียวของตุตันคามุน ]
ฟาโรห์พระองค์ใหม่ทรงพระนามว่า รามเซสที่หนึ่ง ผู้ทรงขึ้นครองราชย์พร้อมสถาปนาราชวงศ์ใหม่ ครั้นล่วงถึงรัชสมัยฟาโรห์รามเซสมหาราชผู้เป็นพระราชนัดดา จักรวรรดิอียิปต์ได้ผงาดขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ทรงทำทุกวิถีทางเพื่อลบร่องรอยของอเคนาเตน ตุตันคามุน และฟาโรห์ “นอกรีต” พระองค์อื่น ๆ แห่งยุคอมาร์นาไปจากหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์ การสืบเสาะค้นหาของเราจึงมุ่งถวายพระเกียรติยศและรื้อฟื้นความทรงจำของราชันย์เหล่านี้มิ ให้ลบเลือนไปตราบนานเท่านาน


ที่มา  http://www.indepencil.com

1 ความคิดเห็น: